วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วัดมทัยนเรศวร์

ซุ้มประตูทางเข้าวัด
        ประเทศไทยของเราที่อยู่เย็นเป็นสุขมาถึงทุกวันนี้ได้ ก็เพราะมีบรรพบุรุษที่เสียสละทั้งชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาบ้านเมืองเอาไว้
     
สักการะพระนเรศวรฯ ที่ “วัดหทัยนเรศวร์”

       สำหรับฉันแล้ว ถ้าจะให้นึกถึงเหตุการณ์สุดโดดเด่นในการกอบกู้ชาติบ้านเมือง อันนำมาซึ่งเอกราชของสยามประเทศในทุกวันนี้ คงจะหนีไม่พ้นสองเหตุการณ์สำคัญด้วยกัน
     
       หนึ่งนั้นคือวีรกรรมการการกู้ชาติหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สักการะพระนเรศวรฯ ที่ “วัดหทัยนเรศวร์”
พระอุโบสถ วัดหทัยนเรศวร์
        ส่วนอีกหนึ่งคือเหตุการณ์ย้อนหลังกลับไปไกลกว่านั้นอีกกับการกู้ชาติหลังการเสียกรุงศรีฯครั้งที่ 1 โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งการศึกระหว่างสยามกับพม่าในครั้งนี้ได้มีการกระทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระมหาอุปราชมังกะยอชวาแห่งกรุงหงสาวดี ที่ต่อมาทางรัฐบาลได้ใช้วันที่เชื่อว่าตรงกับวันกระทำยุทธหัตถี คือวันที่ 25 มกราคมของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย แต่ในภายหลังเมื่อมีการคำนวณวันขึ้นใหม่ตามปฏิทินทางจันทรคติก็พบว่าตรงกับวันที่ 18 มกราคม จึงได้เปลี่ยนแปลงวันกองทัพไทยเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี
     
       และเนื่องในเหตุการณ์สำคัญเช่นนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความเสียสละของพระองค์ท่านที่มีต่อคนไทยและผืนแผ่นดินไทย ฉันจึงอยากจะพาทุกคนไปสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กันที่ วัดหทัยนเรศวร์ ที่ตั้งอยู่ริม ถ.ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี
สักการะพระนเรศวรฯ ที่ “วัดหทัยนเรศวร์”
ด้านหน้าพระอุโบสถ
        วัดแห่งนี้เริ่มต้นมาจากการสร้างเป็นสำนักสงฆ์ ตั้งแต่ปี 2532 เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงได้ตั้งชื่อว่า สำนักสงฆ์หทัยนเรศวร์ ต่อมาก็ได้มีการขยับขยายพื้นที่วัดออกไป จนได้ตั้งขึ้นเป็นวัดหทัยเนรศวร์ ในวันที่ 12 มกราคม 2549
     
       ส่วนชื่อวัดหทัยนเรศวร์ ก็ตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ผู้ทรงเป็นนักรบที่เก่งกล้าในสมัยอยุธยา และชื่อของวัดก็ยังมีความหมายว่า เป็นดวงหทัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อีกด้วย
สักการะพระนเรศวรฯ ที่ “วัดหทัยนเรศวร์”
อีกมุมหนึ่งของพระอุโบสถลอยฟ้า
        วัดหทัยนเรศวร์มีจุดสังเกตที่เห็นได้ง่ายที่สุดเมื่อมาถึงก็คือ ที่ซุ้มประตูวัดด้านหน้าจะมีรูปปั้นไก่ตัวใหญ่ 2 ตัว ยืนอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา ซึ่งฉันก็เห็นได้ตั้งแต่ไกล ก็เลยมั่นใจได้ว่ามาไม่ผิดวัด
     
       หลังเข้ามาถึงด้านในวัดแล้วฉันก็รู้สึกเย็นสบาย ไม่ร้อนเหมือนอยู่ด้านนอก เนื่องจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่มีอยู่เต็มวัด ช่วยให้บรรยากาศร่มรื่นชื่นใจ
     
       สำหรับจุดแรกที่เมื่อมาถึงวัดแล้วต้องเข้าไปก็คือ พระอุโบสถ ซึ่งที่นี่จะเป็นพระอุโบสถลอยฟ้า คือตัวพระอุโบสถจะอยู่ที่ชั้น 2 ต้องเดินขึ้นบันไดไป ส่วนที่ชั้นล่างก็ใช้พื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์ โดยใช้เป็นสำนักงาน และห้องอเนกประสงค์ เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ของทางวัด
สักการะพระนเรศวรฯ ที่ “วัดหทัยนเรศวร์”
ภายในพระวิหารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
        คนส่วนใหญ่ที่มาที่นี่ ก็มักจะมาสักการะพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน ฉันจึงเดินมาที่ วิหารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งอยู่ด้านข้างของพระอุโบสถ
     
       ด้านนอกของวิหารจะจัดมุมหนึ่งไว้ให้จุดธูปเทียน วางดอกไม้ เพื่อบูชาสมเด็จพระนเรศวร ส่วนเมื่อเข้าไปด้านในแล้วก็จะพบพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานอยู่ ด้านหน้าจะมีรูปปั้นไก่หลากหลายขนาดเรียงรายอยู่ ด้านหลังเป็นภาพเขียนสี เรื่องราวในวันประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงหลั่งทักษิโณทกลงเหนือแผ่นดินเมืองแครง เพื่อประกาศตัดขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี
     
       หากว่าได้เดินดูรอบๆ วัดแล้ว ก็จะเห็นมีหลายมุมที่จัดเอาไว้ให้ผู้คนได้เข้าไปทำบุญ อย่างเช่น ปิดทองลูกนิมิต ไหว้พระประจำวันเกิด หรือสักการะรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในภาคต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และความสุขสงบของชีวิต
สักการะพระนเรศวรฯ ที่ “วัดหทัยนเรศวร์”
มาแวะปิดทองฝังลูกนิมิต
        ก่อนจะถึงทางออกวัด จะมองเห็นอาคารสีขาวๆ อยู่ทางซ้ายมือ ด้านบนจะเห็นหน้าตาคล้ายๆ กับเจดีย์ ซึ่งอาคารหลังนี้ก็คือเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศศรีลังกา เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปสักการะ ส่วนชั้นล่างจัดทำเป็นห้องสมุดเล็กๆ และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ก็ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ของ กศน. ตำบลศาลายา อีกด้วย
     
       ได้ไปสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และไหว้พระในจุดต่างๆ แล้ว ฉันก็ไปเดินเล่นดูรอบๆ วัด และก็สังเกตเห็นว่ามักจะมีคนนำรูปปั้นไก่ขนาดต่างๆ มาตั้งไว้บูชา เนื่องจากไก่ชนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรารำลึกถึงสมเด็จพระนเรศวร
สักการะพระนเรศวรฯ ที่ “วัดหทัยนเรศวร์”
สักการะพระพุทธรูปประจำวันเกิด
        ตำนานไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวร เกิดขึ้นเมื่อครั้งเสด็จไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวร ทรงชนไก่กับพระมหาอุปราชมังกะยอชวา ปรากฏว่าไก่ชนของพระมหาอุปราชเป็นฝ่ายแพ้ จึงทรงพิโรธและตรัสเสียดสีสมเด็จพระนเรศวรว่า “ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงนะ” สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสโต้ตอบเป็นเชิงท้าอยู่ในทีว่า ”ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่ตีพนันชนเอาเดิมพันเลย ถึงชนเอาบ้านเอาเมืองกันเมื่อไรก็ได้”
     
       ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวร เป็นไก่พันธุ์เหลืองหางขาว เป็นไก่อู ตัวใหญ่ สีเหลืองหางขาว ชาวบ้านพูดจนติดปากว่า ”ไก่เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง” การที่เรียกว่า ”ไก่เจ้าเลี้ยง” น่าจะมีความหมายจากการที่สมเด็จพระนเรศวรทรงเลี้ยงไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาวนั่นเอง
สักการะพระนเรศวรฯ ที่ “วัดหทัยนเรศวร์”
นมัสการรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง
        นอกจากนี้ ที่วัดก็ยังเป็นสถานปฏิบัติธรรมกรรมฐาน โดยมีแม่ชีจากวัดเจ้ามูล เขตบางกอกใหญ่ กทม. มาให้ความรู้ ซึ่งจะสอนเป็นกรรมฐานแบบหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน ที่ จ.สิงห์บุรี และแบบของยุวพุทธิกสมาคม
     
       และในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี ทางวัดจะจัดพิธีบวงสรวงพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และยังมีการเชิญชวนพุทธศาสนิกชนมาร่วมบวชเนกขัมมบารมี (หรือการบวชชีพราหมณ์) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งฉันก็อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมพิธีนี้ด้วย
สักการะพระนเรศวรฯ ที่ “วัดหทัยนเรศวร์”
เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
        ฉันคิดว่า เมื่อเราทุกคนเกิดมาบนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้แล้ว เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องรักษาแผ่นดินของเราให้อยู่สืบต่อไป ดังเช่นที่บรรพบุรุษของเราเคยทำมาก่อน แต่หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ขอเพียงไม่ทำความเดือดร้อนให้ตัวเองและผู้อื่น เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมบ้าง เท่านี้ก็สร้างความสุขความสงบให้กับบ้านเมืองได้มากแล้ว
สักการะพระนเรศวรฯ ที่ “วัดหทัยนเรศวร์”
รูปปั้นไก่หลากหลายขนาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น